วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประวัติความเป็นมา การสร้างพระรอดมหาวัน ลำพูน

ประวัติความเป็นมา การสร้างพระรอดมหาวัน ลำพูน

วัดมหาวัน อำเภอเมือง เป็นวัดสำคัญเก่าแก่ ที่สร้างมาตั้งแต่ครั้งพระนางจามเทวีขึ้นครองนครหริภุญไชย  เมื่อประมาณปี   พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษ   และได้อัญเชิญ พระพุทธรูปนาคปรก หรือ พระดิลกดำ จากเมืองละโว้ มาไว้ที่วัดนี้ ชาวเมืองเรียกกันว่า พระรอดหลวง หรือ พระรอดลำพูน ซึ่งต่อมาได้เป็น แบบพิมพ์จำลอง พระเครื่อง ที่ลือชื่อกรุหนึ่ง ชื่อ พระรอดมหาวัน

ซึ่งพระอารามนี้ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองทางด้านทิศตะวันตกห่างจากประตู มหาวัน อันเป็นประตูเมืองด้านทิศตะวันตก  ประมาณ ๕๐ เมตร  หน้าพระอารามหันไปทางทิศตะวันออก  ตรงกันข้ามกับคูเมือง  ที่ตั้งวัดนี้เดิมเป็นมหาวนาราม พระอารามหลวง  ซึ่งพระนางจามเทวีโปรดให้สร้างขึ้น เมื่อประมาณ ปี พ.ศ. ๑๒๐๐ เศษ

ในสมัยเจ้าหลวงเหมพินธุไพจิตร  ได้มีการปฏิสังขรณ์องค์เจดีย์ในวัดมหาวันขึ้นมาใหม่ ประมาณ พ.ศ. ๒๔๓๑ - ๒๔๓๘  ซึ่งแต่เดิมองค์เจดีย์ยอดปรักหักพังลงไป  พระรอดซึ่งถูกบรรจุไว้ได้กระจัดกระจายไปพร้อมกับยอดเจดีย์ซึ่งหักพังลงไปทางทิศตะวันตก  เพราะได้มีผู้ขุดพบยอดพระเจดีย์ซึ่งเป็นศิลาแลงทางทิศนั้น  อนึ่งปรากฏว่า มีผู้ค้นพบพระรอดได้เป็นจำนวนมากมายทางทิศนี้ด้วย ซึ่งมีมากกว่าทิศอื่นๆ จนกระทั่งสถานที่ขุดได้กลายเป็นบ่อน้ำ (บ่อน้ำปัจจุบัน) ในการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ในครั้งนี้ได้พบพระรอดจำนวนมากในซากกรุเจดีย์วัดมหาวัน  พระรอดส่วนหนึ่ง ได้รับการบรรจุเข้าไปไว้ในพระเจดีย์ใหม่ และบางส่วนได้มีผู้นำไปสักการบูชา  แต่ยังมีอีกบางส่วนที่ปะปนกับเศษซากกรุเก่า กระจายไปทั่วบริเวณวัด

ในสมัยเจ้าหลวงอินทยงยศ  ทรงได้พิจารณาเห็นว่ามีต้นโพธิ์ แทรกตรงบริเวณฐานเจดีย์มหาวันและมีรากลึกลงไปภายในองค์พระเจดีย์ทำให้มีรอยร้าวชำรุดหลายแห่ง  จึงได้ทำการฏิสังขรณ์ฐานรอบนอกองค์พระเจดีย์ใหม่ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๕๑ ในการนี้ ได้พบพระรอดจำนวนมาก ประมาณหนึ่งกระเช้าบาตร (ตระกร้าบรรจุกับข้าวตักบาตร)  และได้นำมาแจกจ่ายบรรดาญาติซึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจนทุกวันนี้

ในสมัยต่อๆ มามีการขุดพบพระรอดอยู่เสมอ แต่มีจำนวนไม่มากนักข้อสังเกตในการขุดพบพระรอด ในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ซึ่งพบมากถึงประมาณ ๒๐๐ องค์  บริเวณที่พบพระรอดมักจะมีอิฐโบราณสลับซับซ้อนอยู่โดยรอบพระรอด และพระรอดจะฝังอยู่ในดินหรดาลซึ่งเป็นดินเนื้อละเอียดที่สุด มีสีเหลือง และมีกลิ่นหอมนวลๆ ซึ่งในการสร้างพระรอดสมัยต่อมา ได้นำดินหรดาล ผสมกับเศษพระรอด และพระอื่นๆสร้างป็นพระรอดขึ้นมา เช่น พระรอดครูบากองแก้ว

พระรอดได้ขุดค้นพบที่วัดมหาวันเพียงแห่งเดียวเท่านั้นเนื้อดินเผา ละเอียดหนักนุ่มมาก องค์พระประทับนั่งขัดเพ็ชรปางมารวิชัยประกอบด้วยพื้นผนังใบโพธิ์ทั้งสองด้าน มีศิลปะโดยรวมแบบทวาราวดี – ศรีวิชัย เป็นรูปแบบเฉพาะของสกุลช่วงสมัยหริภุญไชย ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 แบ่งลักษณะ แบบได้ 5 พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และพิมพ์ตื้นนั้น มีลักษณะจุดตำหนิโดยรวมที่เป็นสัญลักษณ์ปรากฏทุกพิมพ์ ในพิมพ์ใหญ่ กลาง เล็ก เริ่มจากด้านบนของทั้งสามพิมพ์มีจุดโพธิ์ติ่ง ทั้งสามพิมพ์นี้มี 3 ใบ ปรากฏที่เหนือปลายเกศ และด้านข้างพระเศียร 2 ใบ กลุ่มใบโพธิ์แถวนอกจะใหญ่กว่าแถวใน และโพธิ์คู่ทั้ง 3 พิมพ์นี้มีระดับสูงเกือบเสมอกัน เส้นรอยพิมพ์แตกมีเฉพาะพิมพ์ใหญ่เท่านั้น มีรูปคล้ายตัวหนอนปรากฏเส้นข้างพระกรรณด้านซ้ายขององค์พระ เหนือเข่าด้านซ้ายขององค์พระมีเส้นน้ำตกเป็นเส้นนูนเล็กมาวาดจากใต้ข้อศอก พระรอดใต้ฐานชั้นบน เฉพาะพิมพ์ใหญ่มีฐาน 4 ชั้น พิมพ์กลาง เล็ก ต้อ ตื้น มีฐาน 3 ชั้น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์ตื้นมีเนื้อดินยื่นจากใต้ฐานล่างที่สุดเรียกว่า ฐาน 2 ชั้น พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อไม่มี กลุ่มโพธิ์แถวนอกของทุกพิมพ์จะคล้าย ๆ กันเพราะทำมาจากช่างคนเดียวกัน นอกจากนั้นพิมพ์ต้อกับพิมพ์ตื้นกลับไม่ค่อยมีใบโพธิ์ในพิมพ์ตื้นมีพื้นผนัง โพธิ์แถวใน ใบโพธิ์ติดชิดกับองค์พระแล้วลาดเอียงลงที่กลุ่มโพธิ์แถวนอก ตรงแสกหน้ามีรอยพิมพ์แตกเป็นจุดสังเกต ในพิมพ์ต้อไม่ปรากฏโพธิ์แถวใน พื้นผิวติดองค์พระสูงลาดเอียงลงมา ที่กลุ่มโพธิ์แถวนอกเฉพาะตรงปลายเส้น ชี้นูนสูงที่สุดเป็นจุดสำคัญ นอกจากนี้ประการสำคัญที่สุดของพระรอด ที่ของปลอมจะทำเลียนแบบได้ยากคือ การจำรูปแบบพิมพ์ทรง และความเก่าของเนื้อเฉพาะพิมพ์ใหญ่จะปรากฏพระโอษฐ์ (ปาก) เม้มจู๋คล้ายปากปลากัด มีรอยหยักพับที่ริมฝีปากบนชัดเจนมาก เป็นจุดลับที่ควรสังเกตไว้ และกลุ่มโพธิ์แถวนอกของพิมพ์ใหญ่ด้านซ้าย ขององค์พระ มีระดับลาดเอียงเห็นได้ชัดเจนมาก เป็นจุดสังเกตที่ของปลอมจะทำได้ยาก

ตำนานการสร้างพระรอด กล่าวถึงสุกกทันตฤษี และวาสุเทพฤษี ประชุมฤษี ๑๐๘ รูป  มาชุมนุมสร้างโดยเอาดินบริสุทธิ์จากใจกลางทวีปทั้ง ๕  ตัวยา ๑,๐๐๐ ชนิด  เกสรดอกไม้ ๑,๐๐๐ ชนิด  และว่าน ๑,๐๐๐ ชนิด  มาผสมกันจนละเอียดกดลงในพิมพ์นำไปเผา  เสร็จแล้วสุกกทันตฤษี และวาสุเทพฤษี  ได้ทำพิธีปลุกเสกด้วยเวทมนต์อันศักดิ์สิทธิ์และเนื่องจากการสร้างพระรอดจากวัสดุต่างๆ นำมาผสมกัน ดังกล่าวแล้วจึงปรากฏว่าองค์พระ ที่สร้างมีสีหลายสีเนื่องจากส่วนผสมและการเผา จึงได้พบสีต่างๆ ได้แก่  สีเขียว  สีเขียวอ่อน  สีขาวปนเหลือง  สีดำ  สีแดง สีดอกพิกุล เป็นต้น  (บางตำราแบ่งออกเป็น ๖ สีคือ สีเขียว สีพิกุล สีแดง สีเขียวคราบเหลือง สีเขียวคราบแดง สีเขียวหินครก)   นอกจากนี้ ยังมีแม่พระรอดซึ่งเป็นพระที่สร้างขึ้นด้วยหินศิลาดำอ่อนๆ หน้าตักกว้าง ๑๗ นิ้ว  สูง ๓๖ นิ้ว  นั่งขัดสมาธิเพชรปัจจุบัน ประดิษฐานไว้ด้านหน้าพระประธานในวิหารวัดมหาวัน โดยชื่อเรียกว่า พระพุทธสักขีปฏิมากรณ์ สันนิษฐานว่าเป็นพระพุทธรูปที่พระนางจามเทวีนำขึ้นมาจากเมืองละโว้ (ลพบุรี) ถือว่า พระพุทธสักขีปฏิมากรณ์องค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองหริภุญไชย ลำพูนมาตราบเท่าทุกวันนี้

ลักษณะของพระรอด

พระรอดเป็นพระพิมพ์เนื้อดินขนาดเล็ก ชื่อพระรอดนั้นมีข้อสันนิษฐาน ๓ ทางได้แก่
๑) ออกเสียงตามผู้ที่สร้างขึ้น คือ พระฤาษีนารอด ซึ่งออกเสียงตามภาษามอญ
๒) ผู้ที่สักการะบูชา และนำติดตัวไปยังที่ต่าง ๆ สามารถรอดพ้นจากอันตรายเป็นอย่างดี จึงเรียกว่าพระรอด
๓) เนื่องจากเป็นพระเครื่องที่มีขนาดเล็กกว่าพิมพ์อื่นๆ จึงได้ชื่อว่าพระลอด และเพี้ยนมาเป็นพระรอด

ลักษณะทั่วไปของพระรอด  เป็นพระปางมารวิชัย มีฐานอยู่ใต้ที่นั่ง และมีผ้านิสีทนะ (ผ้านั่งปู) รองรับปูไว้บนฐานข้างหลังองค์พระมีลวดลายกระจัง ชาวพื้นเมืองเหนือเรียกกันว่า ใบโพธิ์ เพราะกระจังนั้นดูคล้ายๆใบโพธิ์มีกิ่งก้านไม่อยู่ในเรือนแก้ว  พระพักตร์จะปรากฏพระเนตร (ตา) พระกรรณ (หู) ยาวลงมาเกือบจรดพระอังสะ (บ่าหรือไหล่) ทั้งสองข้าง  ส่วนด้านหล้งนั้นไม่มีลวดลายอะไรนอกจากรอยนิ้วมือ เป็นเนื้อดินทั้งหมด บางองค์มีลักษณะนูนบ้างแบนบ้าง สามารถแบ่งได้ ๕ พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่  พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์ต้อ และ พิมพ์ตื้น บางตำราเพิ่มพิมพ์พระรอดหัวข่วง หรือพิมพ์บ่วงเงิน บ่วงทองเข้ามาเป็นหกพิมพ์

พระอานุภาพของพระรอด มีความเชื่อกันว่า พระรอด มีความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลังในด้านแคล้วคลาด จากภัยอันตราย และความวิบัติต่างๆ  มีเสน่ห์เมตตามหานิยม ได้ลาภผล และคงกระพันชาตรี

ที่มา : หนังสือวัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์ และภูมิปัญญา จังหวัดลำพูน พ.ศ.2544 และ เว็บไซต์  http://www.rd.go.th/lamphun/52.0.htmlและhttp://www.zabzaa.com/พระเครื่อง/พระรอด.htm

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น